วันพฤหัสบดีที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ประชาคมอาเซียนกับอาชีพการเลี้ยงโคนม

เกษตรกรโคนม ถือเป็นหนึ่งในอาชีพที่มีความสำคัญต่อคนไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากอาชีพเกษตรกรโคนมนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์นักคิดนักพัฒนา ทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการเลี้ยงโคนม และการพัฒนาผลิตภัณฑ์นม เมื่อกว่า 50 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่านมนั้นเป็นเครื่องดื่มบำรุงสุขภาพที่เหมาะกับทุกเพศทุกวัยโดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชนที่ร่างกายกำลังเจริญเติบโต วันนี้ รัชนีวรรณฟาร์ม จะพาไปดูสถานการณ์ของเกษตรกรโคนมว่าเป็นอย่างไร และจะรับมืออย่างไรเมื่อประเทศไทยจะต้องเปิดเสรีทางเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้

อาชีพเกษตรกรโคนม เริ่มต้นเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จประพาสยุโรปเมื่อปี พ.ศ.2503 ในระหว่างที่ทั้งสองพระองค์ประทับอยู่ ณ ประเทศเดนมาร์ก ทรงให้ความสนพระราชหฤทัยในกิจการเลี้ยงโคนมเป็นอย่างมาก ต่อมารัฐบาลเดนมาร์กและสมาคมเกษตรเดนมาร์ก ได้ร่วมกันน้อมเกล้าฯ ถวายโครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคนมแด่ทั้งสองพระองค์ โดยริเริ่มจัดตั้งฟาร์มโคนม และศูนย์ฝึกอบรมการเลี้ยงโคนมไทยเดนมาร์กขึ้นที่อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าเฟรเดอริกที่ 9 แห่งเดนมาร์ก ได้ทรงร่วมกันประกอบพิธีเปิดฟาร์มโคนมและศูนย์ฝึกอบรมการเลี้ยงโคนมไทย-เดนมาร์ก อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2505 จนกระทั่งในปี พ.ศ.2514 รัฐบาลไทยได้รับโอนกิจการดังกล่าวมา และจัดตั้งเป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชื่อว่า องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย

ในปี พ.ศ.2558 หรืออีก 3 ปีข้างหน้า ประชาคมอาเซียน (Asean) ซึ่งมี 10 ชาติสมาชิก ประกอบด้วย เวียดนาม มาเลเซีย พม่า ลาว ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย บรูไน กัมพูชา และไทย จะรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน( Asean Economics Community : AEC) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน มีอำนาจต่อรองในเวทีโลกมากขึ้น ซึ่งจะมีการนำเข้า ส่งออกของชาติในอาเซียนอย่างเสรี (ยกเว้นสินค้าบางชนิด) ส่งผลให้การแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจของแต่ละประเทศจะต้องมีการปรับตัว และพัฒนาเพื่อความอยู่รอด ซึ่งประเทศไทยในทุกภาคส่วนต่างตื่นตัวรับ AEC เช่นกัน โดยเฉพาะภาคการเกษตรที่ถือกันว่าเป็นอาชีพหลักของคนไทย ได้พยายามปรับตัว เพื่อรับการแข่งขันที่นับวันจะยิ่งเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ

“พันธุ์โคนมไทยในทศวรรษหน้า”

      ด้วยสภาวะการแข่งขันทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีมากในปัจจุบันและนับวันมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้นดังนั้นหากกล่าวถึงความคาดหวังเกี่ยวกับพันธุ์โคนมไทยในทศวรรษหน้าแล้วทุกท่านคงปฏิเสธได้ยากถึงการได้มาซึ่งโคนมที่มีคุณลักษณะ เป็นโคที่สามารถให้ผลผลิตและแสดงลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ (Production efficiency) ดังต่อไปนี้
·         เป็นโคที่สามารถให้ผลผลิตและแสดงลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่องและยาวนาน (Life Time Production)
·         เป็นโคที่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมและเลี้ยงดูได้ง่าย (Adaptability)
·        เป็นโคที่มีความสามารถทางพันธุกรรมเกี่ยวกับการให้ผลผลิตและแสดงลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจสูง (Genetic ability)
   เหตุผลที่เป็นเช่นนั้นเพราะการเป็นโคที่สามารถให้ผลผลิตและแสดงลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นช่วยให้การลงทุนต่อหนึ่งหน่วยการผลิตได้ผลตอบแทนอย่างคุ้มค่าการเป็นโคที่สามารถให้ผลผลิตและแสดงลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่องและยาวนานนั้นจะช่วยลดความเสียงและเพิ่มความมั่นใจในการวางแผนการผลิตสำหรับอนาคตการเป็นโคที่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมและเลี้ยงดูได้ง่ายนั้นจะช่วยให้การจัดการการผลิตสามารถทำได้ง่ายและคล่องตัวมากยิ่งขึ้นและการเป็นโคที่มีความสามารถทางพันธุกรรมเกี่ยวกับการให้ผลผลิตและแสดงลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจสูงนั้นจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้ผู้ผลิตมั่นใจได้ว่าโคนมรุ่นต่อไปในระบบการผลิตของตนจะยังคงมีความสามารถในการให้ผลผลิตดีหรือดีกว่าโคนมในรุ่นปัจจุบัน 

วันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2555

โรคกีบเน่า โรคสัตว์สำคัญในโคนมที่มากับหน้าฝน

             โรคกีบเน่า (Infectious foot rot) เป็นโรคติดต่อสำคัญที่ทำให้โคนม แสดงอาการขาเจ็บ เนื่องจากส่วนต่างๆ ของกีบมีการอักเสบ สาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อฟูโซแบคทีเรียม นิโครโฟรัม (Fusobacterium necrophorum) ซึ่งโรคนี้เกิดได้ทุกฤดูแต่จะพบมากในฤดูฝน และมีสาเหตุโน้มนำมาจากการเลี้ยงโคในคอกที่ชื้นแฉะตลอดเวลาหรือคอกที่มีแอ่งโคลนมีก้อนหิน ก้อนกรวดปะปนอยู่ หรือคอกที่มี พื้นแข็งและแห้ง ซึ่งสภาพเช่นนี้จะทำให้กีบมีการบวม มีแผลตามสันกีบและซอกกีบ เชื้อแบคทีเรียจึงผ่านเข้าทางบาดแผล เกิดการอักเสบที่บริเวณกีบได้ โคที่เป็นโรคนี้จะมีน้ำสีดำๆ กลิ่นเหม็น ออกมาจากแผลปะปนในแปลงหญ้า พื้นคอก ทำให้โรคแพร่ระบาดไปยังโคตัวอื่นๆ ได้ โดยโคจะแสดงอาการเจ็บขา เดินกะเผลก สันกีบและซอกกีบบวมแดง มีแผลรูที่มีน้ำสีดำคล้ำไหลออกมากลิ่นเหม็นมาก มักพบในโคทุกอายุ แต่จะพบมากในโคที่มีอายุ แม่โคที่ กำลังให้นม น้ำนมจะลดลงกว่าปกติ สำหรับการตรวจวินิจฉัยนั้น สังเกตได้จากอาการและสภาพแวดล้อมทั่วๆ ไป เช่น พื้นคอก ฤดูกาลดูลักษณะของแผลที่บริเวณกีบและเพาะหาเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุ
            การรักษา ในระยะเริ่มแรกของโรคให้รักษาด้วยยาปฏิชีวนะ หรือซัลฟา เช่น เพนิซิลิน 10,000 ยูนิต/น้ำหนักสัตว์ 1 กิโลกรัม หรือ อ๊อกซี่เต็ทตร้าไซคลิน 1 ซี.ซี./น้ำหนักสัตว์ 10 กิโลกรัม หรือซัลฟาไดอะซิน ขนาด 150-200 มิลลิกรัม/น้ำหนักสัตว์ 1 กิโลกรัม ก็จะได้ผลดีแต่ถ้าบริเวณพื้นกีบอ่อนนุ่มมีแผลรู ควรล้างทำความสะอาดกีบ เปิดแผลให้กว้างตัดเอาเนื้อตายออกล้างแผลให้สะอาดอีกครั้งด้วยไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ แล้วใส่ยาชนิดครีมที่ผสมซัลฟาหรือยาปฏิชีวนะอื่นๆ หรือจะให้สัตว์เดินผ่านบ่อน้ำตื้นๆ ที่มี 5% คอปเปอร์ซัลเฟต หรือ 3% ฟอร์มาลิน ก็ได้ แล้วนำโคไปไว้ในคอกที่พื้นแห้งและสะอาด
การควบคุมและป้องกัน แยกโคที่แสดงอาการขาเจ็บ ออกจากฝูง ทำการรักษากีบที่เน่า ทำความสะอาดพื้นคอกถ้าเป็นคอนกรีต ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อปล่อยทิ้งไว้ให้พื้นคอกแห้ง ถ้าพื้นคอกที่เป็นดินควรเก็บกวาดอุจจาระออกให้หมด อย่าปล่อยให้หมักหมมพยายามทำให้พื้นคอกเรียบ เพื่อป้องกันน้ำขังโดยเฉพาะ ในฤดูฝน และควรสังเกตสุขภาพของโคอย่างสม่ำเสมอ

วันพฤหัสบดีที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ทำไมต้องมีแปลงหญ้าเลี้ยงสัตว์ที่ดี


     มีเกษตรกรจำนวนมากสนใจที่จะเลี้ยงโคเนื้อและโคนมเนื่องจากมีการเพิ่มพื้นที่การปลูก จึงทำให้ทุ่งหญ้าตามธรรมชาติ ไม่พอเพียงสำหรับการเลี้ยงสัตว์ ฉะนั้น ในการเลี้ยงโคเนื้อและโคนมเพื่อการค้า เกษตรกรจึงจำเป็นต้องปลูกแปลงหญ้าเลี้ยงสัตว์
แปลงหญ้าเลี้ยงสัตว์ที่ดีควรประกอบด้วยหญ้าและถั่วอาหารเลี้ยงสัตว์ เพื่อ :
(ก) ทำให้มีอาหารที่มีคุณภาพดีแก่สัตว์
(ข) ทำให้ดินดีขึ้น
(ค) ป้องกันการพังทลายของดิน
การมีแปลงหญ้าที่ดีจะทำให้ สุขภาพของสัตว์ดีขึ้น สัตว์โตเร็วขึ้น สัตว์ให้ลูกและนมมากขึ้น
              ดินที่ดีขึ้นจะมีธาตุอาหารสำหรับพืชมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ผลผลิตของพืชสูงขึ้น แปลงหญ้าเลี้ยงสัตว์อาจแบ่งเป็น 2 ประเภท
              (ก) ประเถทถาวร มีอายุหลายปี แต่ผลผลิตจะลดลงเมื่ออายุ 4 - 5 ปี จึงควรไถพรวน แล้วปลูกซ่อม แล้วใส่ปุ๋ยหรือไถทิ้งแล้วปลูกใหม่
             (ข) ประเภทหมุนเวียน เป็นแปลงหญ้าที่แนะนำให้ปลูกในที่ดอนที่ดินไม่ดี และเกษตรกรยังนิยมปลูกพืชไร่ โดยปลูกแปลงหญ้า 3 ปี สลับกับพืชไร่

วันพุธที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ปัญหาที่พบบ่อยในการรีดนมโค

                                                      ปัญหาที่พบบ่อยในการรีดนม

                 ถ้ารู้ว่าโคตัวใดเป็นโรคเต้านมอักเสบ ต้องทำการรีดหลังโคตัวอื่น ๆ เพื่อป้องกันการกระจายของโรคและ ควรรีดเต้าที่อักเสบทีหลังสุด และให้ระวังการเช็ดล้างเต้านมถ้าโคตัวใด เป็นแผลหรือเป็นฝีที่หัวนม ขณะที่ทำการรีดนมแม่โคอาจแสดงอาการเจ็บปวด อาจทำร้าย คนรีดได้ในกรณีเวลารีดควรแตะต้องแผลให้น้อยที่สุด และควรรีบจัดการรักษาใส่ยาหรือใช้ขี้ผึ้งทา หลังรีดนม เสร็จแล้วควรล้างมือให้สะอาดด้วยถ้ามีโคตัวใดนมรั่ว ซึ่งเกิดจากเต้านมคัด ซึ่งเป็นเพราะกล้ามเนื้อวงแหวนที่รัดรูหัวนมไม่แข็งแรงพอ หรือค่อนข้างเสื่อมสมรรถภาพ กรณีที่ไม่มีแนวทางแก้ไขอาจใช้จุกปิดหรืออุดรูหัวนมหรือใช้วิธีรีดนมให้ถี่ ขึ้น     ก็ได้ถ้าพบว่าแม่โคบางตัว ให้น้ำนมที่มีสีผิดปกติเกิดขึ้นกล่าวคือน้ำนมอาจเป็นสีแดงหรือมีสีเลือดปน ออกมา ซึ่งอาจเป็นเพราะเส้นเลือดฝอยในเต้านมแตก ซึ่งไม่เป็นอันตรายใด ๆ จะค่อย ๆ หายไปเองในไม่ช้า น้ำนม ที่ได้ควรนำไปให้ลูกโคกินไม่ควรบริโภค ถ้าพบว่าแม่โคตัวใดเตะเก่ง ขณะทำการรีดจะต้องใช้เชือกมัดขา ซึ่งควรค่อย ๆ ทำ การฝึกหัดให้เคยชิน โดยไม่ต้องใช้เชือกมัด เพราะวิธีการมัดขารีดนมไม่ใช่เป็นวิธีการที่ดีจะทำให้วัวเคยตัว

วันอังคารที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

รูปร่างโคนมที่ดี


รูปร่างโคนมที่ดี พิจารณาจากลักษณะหลัก 15 ลักษณะ
1.ความสูง ( Stature ) พิจารณาจากแนวหลัง ( จุดที่ผ่านกระดูกสะโพก ) ถึงพื้นดินขณะโคยืนตรง2.ความแข็งแรง ( Strength ) วัดความกว้างและความลึกของช่วงอก 3. ความลึกของลำตัว ( Body depth ) พิจารณาความยาวที่บริเวณกลางลำตัวจากหลังถึงท้อง4. ลักษณะความเป็นโคนม (Angularity )5. มุมสะโพก ( Rump angle )  6. ความยาวของสะโพก ( Rump length ) 7. ความกว้างสะโพก ( Rump width )8. ลักษณะขาหลังมองด้านข้าง ( Rear leg side view) 9. มุมกีบ (Foot angle )10. 12. ความกว้างของเต้านมหลัง ( Rear udder width ) 12. การเกาะยึดของเต้านมคู่หน้า ( Fore udder attachment ) 13. ความแข็งแรงของเอ็นยึดเต้านมหลัง ( Udder support ) 14. ความลึกของเต้านมหลัง ( Udder depth ) 15. ตำแหน่งหัวนม มองด้านหลัง ( Teat placement rear view )

สะโพกโคนมที่ดี


          

                      ความกว้างสะโพก ( Rump width )   ของโคนมที่ดี


          พิจารณาจากระยะห่างระหว่างปุ่มกระดูกสะโพกซ้ายและขวา โดยปกติจะใช้ความกว้างของกระดูกเชิงกรานเป็นตัวพิจารณา แต่พบว่าความกว้างของกระดูกสะโพกมีความสัมพันธ์อย่างสูงกับความกว้างของกระดูกเชิงกราน และปุ่มกระดูกสะโพกสามารถสังเกตเห็นได้ชัดเจนกว่า จึงใช้กระดูกสะโพกพิจารณาแทน ซึ่งให้ผลเหมือนกัน แม่โคที่ดี ควรมีความกว้างของสะโพกหรือความกว้างของกระดูกเชิงกรานมาก ลักษณะนี้มีความสัมพันธ์กับการคลอด พบว่าแม่โคที่มีเชิงกรานแคบกว่ามักจะคลอดยากเมื่อเทียบกับแม่โคอื่น ๆ ที่ให้ลูกขนาดเดียวกัน

วันเสาร์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ภูมิหลัง

         พื้นที่แห่งนี้ เดิมเป็นป่ารกทึบ เนืองแน่นไปด้วยป่าไม้สิงห์สา ลา สัตว์ สัตว์ป่านานาชนิด ตั้งแต่ใหญ่สุด ไม่ว่าจะเป็น ช้างป่า เสือ ระมั่ง มีให้เห็นเป็นประจำ จนถึงเล็กสุดหมูป่า เ้ก้ง อีเห็น กระต่าย และอื่น ๆ อีกมากมาย มีสองผัวเมียคู่หนึ่ง สามีชื่อว่านายสงัด และภรรยาชื่อว่านางชิต  มั่นหมาย หอบลูกน้อยเป็นชายสามหญิงสอง อพยพหนีตายจากโจรในสมัยนั้้นไม่ว่าจะเป็นเสือมเหศวร เสือฝ้าย เสืออ้าย เสือหนอ ที่ออกปล้นสดมภ์อยู่เป็นประจำ โดยอพยพมาจากจังหวัดอ่างทอง หวังว่าจะมาตายเอาดาบหน้า มีชาวบ้านผู้ครอบครองพื้นที่บริเวณนี้ ได้ขายพื้นที่ผืนดังกล่าวให้และ สองผัวเมียภรรยาเล็งเห็นว่าทำเลดังกล่าวมีคลองธรรมชาติไหลผ่าน มีน้ำสอาดตลอดปี พื้นดินเป็นดินดำเหมาะสำหรับทำการเกษตรเป็นอย่างยิ่ง ทั้งสองจึงตกลงปลงใจซื้อที่จากชาวบ้านเพื่อตั้งรกรากทันที จากป่ารก ถากถางจนเป็นพื้นที่โล่งเตียนทำมาหากินได้ ด้วยความขยันและใฝ่รู้ของ คุณพ่อสงัด มีแม่ชิดคอยให้กำลังใจอยู่ข้างกาย พร้อมทั้งมีพัฒนากรหนุ่มที่ชื่อแก้ว นีมะเริง พัฒนากรของตำบลชอนม่วงในขณะนั้น มาทำการส่งเสริมการเลี้ยงโคนมให้แก่ชาวบ้าน เนื่องจากพื้นที่เป็นที่ราบเชิงเขา ดินดี น้ำมีตลอดทั้งปี เหมาะสำหรับการปลูกหญ้าทำเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ จึงตกลงเข้าร่วมโครงการเลี้ยงโคนมของตำบลชอนม่วง การเดินทางเส้นนี้ใช่ว่าจะโรยไว้ด้วยดอกกุหลาบ แต่ท่านทั้งสองต่อสู้อย่างมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยว ล้มรุกคลุกคลาน หัวเราะบ้าง ร้องไห้บ้าง แต่ก็ด้วยความพยายาม ที่สำคัญกำลังใจที่ได้จากลูกสาวคนเล็กที่ชื่อรัชนีวรรณ  มั่นหมาย ที่คอยให้กำลังใจและฝึกฝนหวังว่าจะเป็นแรงสำคัญของคุณพ่อ คุณแม่ ที่สำคัญเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างพัฒนาชุมชนที่ชื่อนายแก้ว  นีมะเริง พัฒนากรประจำตำบล ในขรธนั้น เข้ามาให้กำลังใจอยู่ตลอดเวลา โดยใช้สุภาษิตจีนที่ว่า มีสุขร่วมเสพ มีทุกข์ร่วมต้าน เงินทองที่ได้จากการปลูกข้างโพด ถั่ว งา ในแต่ละปี ก็ถูกนำมาใช้ในการเลี้ยงโคนม หยาดเหงื่อทุกหยด แรงกายที่แรง ความมุมานะบากบ่วนตลอดระยะเวลา 35 ปี ก็ได้กำเนิด ฟาร์มโคนมขนาดกลางฟาร์มขึ้น ภายใต้ชื่อฟาร์มว่า "รัชนีวรรณฟาร์ม" มาจนถึงปัจจุบัน

วันพฤหัสบดีที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ศูนย์เรียนรู้ด้านการเลี้ยงโคนม

               รัชนีวรรณฟาร์ม โดยคุณรัชนีวรรณ มั่นหมาย เจ้าของฟาร์ม ดำเนินกิจกรรมของฟาร์มไม่เพียงแต่รีดน้ำนมขายให้กับสหกรณ์โคนมเท่านั้น แต่ฟาร์มยังมุ่งเน้นให้เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการเลี้ยงโคนม นับตั้งแต่การคัดเลือกน้ำเชื้อพ่อพันธุ์ที่ดี การเก็บรักษาน้ำเชื้อ การผสมพันธุ์เทียม การดูแลโคขณะตั้งท้อง จนคลอดและการอนุบาลลูกโคนม สุดท้ายปลายทางเมื่อมีการผลิตน้ำนม ก็จะจบลงตรงขั้นตอนของการตลาด รวมถึงการรวมกลุ่มกันเพื่อให้เกิดอำนาจการต่อรองในรูปแบบของสหกรณ์ ซึ่งนับว่าเป็นศูนย์เรียนรู้แบบครบวงจรจริง ๆ ในทุกปีรัชนีวรรณฟาร์มจะมีการรับนักศึกษาฝึกงานจากสถานการศึกษาต่าง ๆ นับตั้งแต่ระดับอุดมศึกษา ตลอดลงมาถึงระดับอาชีวะ โดยรัชนีฟาร์มจะมีที่พักพร้อมอาหารสามมื้อฟรีตลอดการฝึกงาน

วันจันทร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

รัชนีวรรณฟาร์ม

          รัชนีวรรณฟาร์ม เป็นฟาร์มโคนมขนาดกลาง ที่ตั้งอยู่ริมถนนหนองม่วง- บ้านหมี่ ห่างจากตัวเมืองบ้านหมี่ 15 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากตัวเมืองอำเภอหนองม่วง จังหวัดลพบุรี รวม 9 กิโลเมตร ปัจจุบันมีโคนมที่สามารถรีดนมได้ จำนวน 50 ตัว มีวัวรุ่น จำนวน 40 ตัว และมีวัวเล็ก จำนวน 50 ตัว สามารถผลิตน้ำนมส่งสหกรณ์โคนมหนองม่วงได้ประมาณวันละไม่ตำกว่า 1,200 กิโลกรัมต่อวัน บริหารงานโดยนางสาวรัชวรรณ  มั่นหมาย ประธานสหกรณ์โคนมหนองม่วง จำกัด