วันอาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

เติมเต็มให้แปลงหญ้าธรรมชาติ

                                                                                                                                               โดย คาวบอย  บ้านหมี่

วันนี้ เป็นว่าง คาวบอย บ้านหมี่ เลยมีเวลาว่างหลังจากเดินดูฟาร์มเสร็จก็มานั่งเหม่อมองท้องฟ้า ยามเช้าอันสดใสของตำบลดอนดึง อำเภอบ้านหมี่ มองไปยังทุ่งหญ้า ซึ่งเป็นแปลงหญ้าธรรมชาติ ในใจคิดว่าเรายังโชคดีหนอที่ยังมีแปลงหญ้าไว้รองรับ หากฟาร์มของเราขนาดขนาดฟาร์มเป็นฟาร์มขนาดใหญ่ เรายังมั่นใจว่าเรายังสามารถใช้แปลงหญ้านี้เป็นจุดแข็งในการขยายฟาร์มเราได้ คิดต่อไปอีกว่าเราจะปล่อยให้หญ้าซึ่งเป็นแหล่งอาหารอันสำคัญของการเลี้ยงโคนมเป็นไปตามยะถากรรมเชียวหรือ เราจะไม่เพิ่มเติมอะไรลงไปในคำว่าธรรมชาติเชียวหรือ วันก่อนได้เข้าไปนั่งคุยกับปศุสัตว์ประจำสหกรณ์ท่านได้ให้แง่คิดดี ๆ มาว่า เราควรที่จะเติมปลูกหญ้าเข้าไปเพิ่มให้กับธรรมชาติ หญ้าอะไรหล๊ะ พันธุ์อะไรหล๊ะ ก็เลยได้คำตอบมาว่า

การจะเลือกใช้หญ้าพันธุ์ใดนั้น ต้องคำนึงถึงลักษณะพื้นที่ที่จะปลูกเป็นสำคัญ
          1. พื้นที่ดอน พันธุ์ที่แนะนำคือ:
                       หญ้ารูซี่ เป็นหญ้าที่มีอายุหลายปี ต้นกึ่งเลื้อยกึ่งตั้ง ชอบดินที่มีการระบายน้ำดี เจริญเติบโตได้ในดินแทบทุกชนิด ปลูกได้ทั้งเมล็ดและท่อนพันธุ์ โตเร็ว เหมาะสำหรับปล่อยสัตว์แทะเล็ม หรือจะเกี่ยวให้สัตว์กินก็ได้ ให้ผลผลิตน้ำหนักแห้ง 2-2.5 ตันต่อไร่ต่อปี
                        หญ้ากินนีสีม่วง เป็นหญ้าที่มีอายุหลายปี ต้นตั้งเป็นกอ แตกกอได้ดี ใบใหญ่ ใบดกอ่อนนุ่ม เหมาะแก่การตัดสดให้สัตว์กิน ทนร่มเงาได้ดี ใช้หน่อพันธุ์หรือเมล็ดปลูกก็ได้ แต่ไม่ทนน้ำท่วมขัง ให้ผลผลิตน้ำหนักแห้ง 2.5-3.5 ตันต่อไร่ต่อปี
                       หญ้าเนเปียร์ เป็นหญ้าที่มีอายุหลายปี ลำต้นเป็นกอ ลักษณะลำต้นคล้ายอ้อย มีใบมาก ชอบดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง ปลูกโดยใช้ท่อนพันธุ์ ให้ผลผลิตน้ำหนักแห้ง 3-4 ตันต่อไร่ต่อปี
          2. พื้นที่ลุ่ม
                   หญ้าแพงโกล่า เป็นหญ้าที่มีอายุหลายปี มีลำต้นทอดนอนไปตามพื้นผิวดิน ต้นอ่อนจะตั้งตรง เจริญเติบโตได้ในดินทรายจนถึงดินเหนียวทนแล้งและทนน้ำท่วมขัง ปลูกโดยใช้ท่อนพันธุ์ ผลผลิตน้ำหนักแห้ง 5-7 ตันต่อไร่ต่อปี
                   หญ้าอะตราตัม สามารถขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดหรือหน่อพันธุ์ก็ได้ ลักษณะต้นเป็นหญ้ากอใหญ่ ใบกว้าง เจริญเติบโตได้ดีในสภาพดินที่มีความสมบูรณ์ต่ำ ดินเป็นกรด และมีน้ำขังบ้าง เหมาะสำหรับตัดให้สัตว์กิน ให้ผลผลิตน้ำหนักแห้ง 2.5-3.5 ตันต่อไร่ต่อปี
                   หญ้าพลิเคทูลั่ม เป็นหญ้าที่มีอายุหลายปี ต้นตั้งเป็นกอ เจริญเติบโตได้ในดินทรายที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ทนต่อสภาพแห้งแล้ง และน้ำท่วมขัง ปลูกโดยใช้เมล็ดหรือหน่อพันธุ์ ผลผลิตน้ำหนักแห้ง 1.5-2.5 ตันต่อไร่ต่อปี

ก้าวย่างสู่ AEC กับปัญหาการเลี้ยงโคนมของไทยแลนด์

                                                                                                                            โดย คาวบอย บ้านหมี่
                      การพัฒนาอุตสาหกรรมโคนมไทยในปัจจุบัน จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ทุกประเทศมีการพัฒนาอย่างเป็นระบบมองกลุ่มผู้ผลิต มองกลุ่มผู้แปรรูป มองกลุ่มผู้บริโภค สุดท้ายมองระบบโรจิสติก  แต่บทความนี้คาวบอย บ้านหมี่ ได้ศึกษาจากเอกสารต่าง ๆ นำมาประกอบกัน พอสรุปให้ท่านได้อ่านรู้ว่าแนวคิดของคนเลี้ยงโคนมที่เป็นห่วงโซ่แรกของอุตสาหกรรมโคนมว่าเขาคิดกันอย่างไร เพราะอีกไม่กี่เราก็จะเข้าเป็นประชาคมอาเซียน เมื่อเข้าสู่ AEC ก็จะกลายเป็นใครเข้มแข็งกว่าก็จะได้เปรียบ ใครอ่อนแอ กว่าก็จะเสียเปรียบ พอที่จะนำบทความทางวิชาการที่มีนักวิชาการหลาย ๆ คนเขียนไว้ โดยจะชี้ให้เห็นเกี่ยวกับปัญหาการผลิตของอุตสาหกรรมโคนมว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาก่อ่นที่จะเข้าสู่ AEC ก็คือ
            1. รัฐบาลต้องให้ความสำคัญในเรื่องการส่งเสริมการผลิตน้ำนม     ให้ได้คุณภาพ คือ เร่งส่งเสริมการให้ความรู้เกษตรกรเกี่ยวกับการเลี้ยงโคนม ส่งเสริมการวิจัยและเชื่อมโยงงานวิจัยจากนักวิชาการไปสู่เกษตรกรอย่างเป็นรูปธรรม และส่งเสริมในการบริหารจัดการฟาร์มอย่างเป็นระบบ การจัดทำบัญชีฟาร์ม จัดทำสารสนเทศโคนม
            2. เน้นการลดต้นทุนการผลิต การเลี้ยงโคนมที่ประสบปัญหาในปัจจุบันเนื่องมาจาก เรามีต้นทุนในการผลิตเพิ่มมากขึ้น ส่วนใหญ่ต้นทุนมาจากอาหารโคนม คาวบอย บ้านหมี่ มองว่าเราสามารถลดต้นทุนในเรื่องอาหารของโคนมได้ โดยการรวมกลุ่มเกษตรกร ( Cluster ) กลุ่มในที่นี้คือ กลุ่มผู้ผลิต เช่น (กลุ่มเกษตรผู้เลี้ยงโคนม กลุ่มเกษตรผู้ปลูกมันสำปะหลัง กลุ่มเกษตรผู้ปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ กลุ่มเกษตรผู้อัดฟางก้อน กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด ) หากเราสามารถรวมกลุ่มได้แล้วก็สามารถผลิตอาหารสัตว์ได้ในราคาถูก โดย     อาจจะเชิญนักวิชาการด้านการผลิตอาหารสัตว์มาเป็นวิทยากร ให้ความรู้ในการผลิตอาหารสัตว์ ในที่สุดเกษตรกรก็สามารถลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิตได้