วันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2555

โรคกีบเน่า โรคสัตว์สำคัญในโคนมที่มากับหน้าฝน

             โรคกีบเน่า (Infectious foot rot) เป็นโรคติดต่อสำคัญที่ทำให้โคนม แสดงอาการขาเจ็บ เนื่องจากส่วนต่างๆ ของกีบมีการอักเสบ สาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อฟูโซแบคทีเรียม นิโครโฟรัม (Fusobacterium necrophorum) ซึ่งโรคนี้เกิดได้ทุกฤดูแต่จะพบมากในฤดูฝน และมีสาเหตุโน้มนำมาจากการเลี้ยงโคในคอกที่ชื้นแฉะตลอดเวลาหรือคอกที่มีแอ่งโคลนมีก้อนหิน ก้อนกรวดปะปนอยู่ หรือคอกที่มี พื้นแข็งและแห้ง ซึ่งสภาพเช่นนี้จะทำให้กีบมีการบวม มีแผลตามสันกีบและซอกกีบ เชื้อแบคทีเรียจึงผ่านเข้าทางบาดแผล เกิดการอักเสบที่บริเวณกีบได้ โคที่เป็นโรคนี้จะมีน้ำสีดำๆ กลิ่นเหม็น ออกมาจากแผลปะปนในแปลงหญ้า พื้นคอก ทำให้โรคแพร่ระบาดไปยังโคตัวอื่นๆ ได้ โดยโคจะแสดงอาการเจ็บขา เดินกะเผลก สันกีบและซอกกีบบวมแดง มีแผลรูที่มีน้ำสีดำคล้ำไหลออกมากลิ่นเหม็นมาก มักพบในโคทุกอายุ แต่จะพบมากในโคที่มีอายุ แม่โคที่ กำลังให้นม น้ำนมจะลดลงกว่าปกติ สำหรับการตรวจวินิจฉัยนั้น สังเกตได้จากอาการและสภาพแวดล้อมทั่วๆ ไป เช่น พื้นคอก ฤดูกาลดูลักษณะของแผลที่บริเวณกีบและเพาะหาเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุ
            การรักษา ในระยะเริ่มแรกของโรคให้รักษาด้วยยาปฏิชีวนะ หรือซัลฟา เช่น เพนิซิลิน 10,000 ยูนิต/น้ำหนักสัตว์ 1 กิโลกรัม หรือ อ๊อกซี่เต็ทตร้าไซคลิน 1 ซี.ซี./น้ำหนักสัตว์ 10 กิโลกรัม หรือซัลฟาไดอะซิน ขนาด 150-200 มิลลิกรัม/น้ำหนักสัตว์ 1 กิโลกรัม ก็จะได้ผลดีแต่ถ้าบริเวณพื้นกีบอ่อนนุ่มมีแผลรู ควรล้างทำความสะอาดกีบ เปิดแผลให้กว้างตัดเอาเนื้อตายออกล้างแผลให้สะอาดอีกครั้งด้วยไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ แล้วใส่ยาชนิดครีมที่ผสมซัลฟาหรือยาปฏิชีวนะอื่นๆ หรือจะให้สัตว์เดินผ่านบ่อน้ำตื้นๆ ที่มี 5% คอปเปอร์ซัลเฟต หรือ 3% ฟอร์มาลิน ก็ได้ แล้วนำโคไปไว้ในคอกที่พื้นแห้งและสะอาด
การควบคุมและป้องกัน แยกโคที่แสดงอาการขาเจ็บ ออกจากฝูง ทำการรักษากีบที่เน่า ทำความสะอาดพื้นคอกถ้าเป็นคอนกรีต ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อปล่อยทิ้งไว้ให้พื้นคอกแห้ง ถ้าพื้นคอกที่เป็นดินควรเก็บกวาดอุจจาระออกให้หมด อย่าปล่อยให้หมักหมมพยายามทำให้พื้นคอกเรียบ เพื่อป้องกันน้ำขังโดยเฉพาะ ในฤดูฝน และควรสังเกตสุขภาพของโคอย่างสม่ำเสมอ

วันพฤหัสบดีที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ทำไมต้องมีแปลงหญ้าเลี้ยงสัตว์ที่ดี


     มีเกษตรกรจำนวนมากสนใจที่จะเลี้ยงโคเนื้อและโคนมเนื่องจากมีการเพิ่มพื้นที่การปลูก จึงทำให้ทุ่งหญ้าตามธรรมชาติ ไม่พอเพียงสำหรับการเลี้ยงสัตว์ ฉะนั้น ในการเลี้ยงโคเนื้อและโคนมเพื่อการค้า เกษตรกรจึงจำเป็นต้องปลูกแปลงหญ้าเลี้ยงสัตว์
แปลงหญ้าเลี้ยงสัตว์ที่ดีควรประกอบด้วยหญ้าและถั่วอาหารเลี้ยงสัตว์ เพื่อ :
(ก) ทำให้มีอาหารที่มีคุณภาพดีแก่สัตว์
(ข) ทำให้ดินดีขึ้น
(ค) ป้องกันการพังทลายของดิน
การมีแปลงหญ้าที่ดีจะทำให้ สุขภาพของสัตว์ดีขึ้น สัตว์โตเร็วขึ้น สัตว์ให้ลูกและนมมากขึ้น
              ดินที่ดีขึ้นจะมีธาตุอาหารสำหรับพืชมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ผลผลิตของพืชสูงขึ้น แปลงหญ้าเลี้ยงสัตว์อาจแบ่งเป็น 2 ประเภท
              (ก) ประเถทถาวร มีอายุหลายปี แต่ผลผลิตจะลดลงเมื่ออายุ 4 - 5 ปี จึงควรไถพรวน แล้วปลูกซ่อม แล้วใส่ปุ๋ยหรือไถทิ้งแล้วปลูกใหม่
             (ข) ประเภทหมุนเวียน เป็นแปลงหญ้าที่แนะนำให้ปลูกในที่ดอนที่ดินไม่ดี และเกษตรกรยังนิยมปลูกพืชไร่ โดยปลูกแปลงหญ้า 3 ปี สลับกับพืชไร่