วันศุกร์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2563

เลี้ยงหมูอย่างไรถึงรอด


แนะเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อย ทำอย่างไรถึงรอด

  
                      ในภาวะที่หมูราคาตกต่ำ ราคาขายหน้าฟาร์มเหลือเพียงกิโลกรัมละ 43 บาท จากเมื่อก่อนราคากิโลกรัมละ 63 บาท เกษตรกรผู้เลี้ยงต้องเจอภาวะขาดทุนตัวละ 800-1,000 บาท และนอกจากขาดทุนแล้วเกษตรกรยังต้องเผชิญกับภาวะกดดันจากการแทรกแซงการตลาดของนายทุนใหญ่ที่เข้ามาครองตลาดไปกว่าครึ่ง ส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อยต้องยอมแพ้ปิดกิจการ สาบสูญกันไปตามๆ กัน จะอยู่ได้ก็แต่เพียงเกษตรที่สืบทอดกิจการจากรุ่นสู่รุ่น มีเงินทุนหมุนเวียนที่ดี ทำกันเองเป็นอุตสาหกรรมครอบครัวเพื่อลดต้นทุน หากจะหาเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายใหม่หาได้ยาก หรืออาจหาไม่ได้ด้วยซ้ำ ที่เห็นตอนนี้ก็จะมีแต่ทุบเล้าหมูทิ้ง ขายกระเบื้องขายที่ เอาเงินไปลงทุนทำธุรกิจอย่างอื่น แต่อย่างไรผู้คนในประเทศก็ยังต้องบริโภคหมูเป็นอาหารหลัก เกษตรกรผู้เลี้ยงก็ต้องสู้กันไป และควรสู้อย่างไรให้อยู่รอดพ้นวิกฤตไปให้ได้

คุณรัชนีวรรณ นอกจากเลี้ยงหมูแล้ว ยังมีการทำไร่ ทำสวน เป็นการหารายได้เสริม หากหมูราคาตก ก็ลดจำนวนการเลี้ยงหมูลง หรือหยุดเลี้ยงไปสักพัก มาหารายได้จากการทำสวนแทน แต่หากจะให้เลิกอาชีพเลี้ยงหมูเลิกไม่ได้เพราะเป็นอาชีพที่รัก มีกินมีใช้ได้เพราะหมู และอีกอย่างที่เขาชอบเลี้ยงหมูเพราะไม่เหนื่อยมาก ไม่ต้องไปทำงานตากแดด ตากลม ถึงเวลาให้อาหาร ทำความสะอาดโรงเรือน แค่นี้ 
 เลี้ยงหมูไม่ยากอยู่ที่การดูแลเอาใจใส่
อย่างที่บอกไปว่าอาชีพเลี้ยงหมูเป็นอาชีพที่ผมรัก ดังนั้น หากใครจะเลี้ยงหมูอย่างแรกต้องมีใจรักก่อน ถ้ามีใจรักอย่างอื่นจะง่าย การเลี้ยงหมูเป็นอาชีพที่เลี้ยงไม่ยาก แต่ต้องอาศัยการดูแลเอาใจใส่ ต้องหมั่นทำความสะอาด ถ้าปฏิบัติตามนี้ได้การเลี้ยงหมูไม่ใช่เรื่องยาก การเลี้ยงหมูจะมีกลิ่นแรง โจทย์ของเราคือจะจัดการดูแลฟาร์มของเราอย่างไรให้สะอาด ไม่มีแมลงวัน และที่สำคัญไม่ส่งกลิ่นเหม็นรบกวนเพื่อนบ้าน ซึ่งข้อนี้ถือว่าเป็นโจทย์ที่ท้าทาย แต่ที่ฟาร์มของเราสามารถทำได้ด้วยวิธีง่ายๆ เพียง 1. หมั่นดูแลทำความสะอาดฉีดน้ำล้างคอกหมูทุกวัน 2. ขยันฉีดฆ่าเชื้อ ที่ฟาร์มของคุณรัชนีวรรณจะมีการฉีดฆ่าเชื้อทุกวัน การฉีดไม่ได้ยุ่งยากอะไร เพียงซื้อยาฆ่าเชื้อ 1 แกลลอน บรรจุยา 5 ลิตร ราคา 1,350 บาท ใช้ครั้งละ 200 ซีซี ผสมน้ำเปล่า 20 ลิตร ใช้ปั๊มสามสูบฉีดพ่นทำความสะอาดโรงเรือน 3 หลังทุกเช้า วิธีนี้ใช้แล้วได้ผล ราคาไม่แพงถ้าเทียบกับการที่ไม่ต้องเสี่ยงกับโรค สะอาด เชื้อโรคไม่ถามหาเจ้าของเล่า


โรงเรือนสะอาด ไม่มีแมลงวันมารบกวน
เลี้ยงอย่างไรให้อยู่รอดในภาวะหมูราคาตก
คุณรัชนีวรรณ บอกว่า ไม่มีวิธีอะไรที่ซับซ้อนเลย แค่ต้องเลี้ยงเอง ไม่แนะนำให้จ้างแรงงาน ถ้าสามารถทำกันเองได้ในครอบครัว อย่างตนเองทำกันเป็นอุตสาหกรรมครอบครัว มีสามี มีลูกชายอีก 1 คน ช่วยกันเลี้ยง ที่ฟาร์มเลี้ยงหมูครั้งละ 700-800 ตัวก็ดูแลกันเอง หมูเสียหายน้อย ไม่มีต้นทุนอะไรมาก เมื่อราคาตกเราก็อยู่กันได้ อาหารที่ใช้เลี้ยงก็ผสมเองตามสูตรที่สัตวบาลแนะนำ ช่วยลดต้นทุนได้เยอะ ทุกวันนี้ครอบครัวผมสร้างรายได้จากการเลี้ยงหมูเดือนละล้าน หักต้นทุนแล้วก็พออยู่ได้
ลูกหมูไปซื้อจากฟาร์มที่เชื่อถือได้ เริ่มซื้อมาขุนตั้งแต่หมูน้ำหนัก 20 กิโลกรัม ใช้เวลาเลี้ยง 5 เดือน ขุนจนหมูน้ำหนัก 120 กิโลกรัมถึงจับขาย
วิธีเลี้ยง 1 คอก จะปล่อยหมูเลี้ยง 20-25 ตัวในหน้าหนาว ถ้าหน้าร้อนจะลดปริมาณหมูเหลือคอกละ 17-18 ตัว เพื่อไม่ให้หมูเครียด
1 คอก เลี้ยงหมู 20-25 ตัว
การให้อาหารให้แบบลานสาด เลี้ยงแบบใกล้ชิด วิธีนี้จะช่วยให้ดูแลได้ทั่วถึง หมูโตเสมอกันเพราะเราสามารถมองเห็นทุกตัวว่าตัวไหนได้กินตัวไหนไม่ได้กิน ดูแลง่ายเมื่อเกิดโรคเราจะยับยั้งทันเพราะเราเห็นหมูของเราทุกวันเช้า-เย็น ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการเดินมาให้อาหารหมู หากให้แบบรางกลจะไม่สามารถเห็นได้ว่าหมูตัวนี้ได้กินอาหารไหม หรือหมูตัวนี้ติดโรคไหม


เทคนิคจัดการกลิ่นไม่ให้รบกวนเพื่อนบ้าน
อย่างที่บอกไปตอนแรกคือ 1. ต้องหมั่นล้างทำความสะอาด ฉีดยาฆ่าเชื้อทุกวัน 2. ระบบจัดการน้ำต้องดี ที่นี่ใช้น้ำที่ทางกรมชลประทานปล่อยมา ไม่ได้ขุดน้ำบาดาลมาใช้ แต่เรามีระบบการจัดการที่ดี ไม่ให้เล้าหมูมีกลิ่นรบกวนเพื่อนบ้านคือต้องคำนึงเรื่องสถานที่ น้ำจะเก็บอย่างไร ไม่ให้ไปรบกวนด้านนอก ที่นี่มีระบบบ่อเกิดกาก บ่อเกิดน้ำใส มีการระบายน้ำขี้หมูเข้าสวนมะพร้าวไปบำบัดเอง แล้วจึงดึงออกมาใช้ ถือว่าได้ประโยชน์สองต่อ คือได้บำบัดน้ำด้วยส่วนขี้หมูปล่อยเข้าสวนถือว่าเป็นปุ๋ยให้มะพร้าวล้วนๆ เมื่อมะพร้าวดูดไปก็เติมน้ำสะอาดเข้าไปครึ่งหนึ่ง เปรียบเสมือนมีการถ่ายเทน้ำตลอด เมื่อนำไปใช้จะดูดขึ้นแท็งก์พักไว้ฆ่าเชื้อโรค แล้วใช้ปั๊มสูบน้ำเข้าคอกคุณรัชนีวรรณ อธิบาย


 โรงเรือนผสมอาหารหมู
หมูโตเร็วด้วยเทคนิคอาบน้ำให้หมู
การอาบน้ำให้หมูเป็นวิธีที่ทำมานานตั้งแต่สมัยโบราณ แต่ในปัจจุบันพบเห็นได้น้อยเนื่องจากวิธีนี้เปลืองน้ำ ทำให้คอกเละดูแลยาก ส่วนใหญ่จะเลี้ยงแบบแห้งคือไม่มีการอาบน้ำให้น้ำเลย แต่ที่นี่เรื่องนี้มีการบำบัดไม่ได้เปลืองอะไร การอาบน้ำให้หมูมีข้อดีหลายอย่าง 1. หมูไม่เครียด ไม่กัดกัน 2. เมื่อหมูไม่เครียดส่งผลให้หมูโตเร็ว น้ำสามารถช่วยคลายร้อนได้เป็นอย่างดี วิธีนี้เกษตรกรสามารถทำตามได้ไม่ยาก เพียงแต่ต้องมีการดูแลทำความสะอาดคอกให้ดี

เปิดน้ำให้หมูอาบ ลดความเครียด หมูโตเร็ว
ข้อคิดสำหรับเกษตรกรมือเก่า-ใหม่
คุณรัชนีวรรณบอกว่า ปัจจุบันเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูค่อยๆ สาบสูญกันไปทีละราย อย่างบริเวณใกล้เคียงบ้านของตนเอง เมื่อก่อนมีฟาร์มหมูหลายสิบฟาร์ม ปัจจุบันเหลือไม่ถึงสิบฟาร์มเป็นเพราะด้วยปัจจัยที่กล่าวข้างต้น แต่อยากฝากถึงเกษตรกรที่เลี้ยงอยู่อย่าเพิ่งถอดใจอาชีพเลี้ยงหมูเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ดีหากมีระบบการจัดการที่ดี เทคนิคการเลี้ยงไม่มาก อย่างไรคนไทยก็ยังต้องบริโภคหมูเป็นหลัก เลี้ยงมายังไงก็ยังขายได้ แต่อาจจะต้องใช้ประสบการณ์ในการแก้ปัญหา อาจจะทำเกษตรผสมผสาน ควบคู่การเลี้ยงหมู หรืออาจทำเป็นอาชีพเสริมเลี้ยงใต้ถุนบ้านขายในหมู่บ้านของตน ปัญหาทุกอย่างมีทางแก้ ถ้ารักอาชีพเลี้ยงหมูแล้วก็ให้สู้กันต่อไป ส่วนเกษตรกรรายใหม่ที่คิดจะเลี้ยงก็อย่าเพิ่งกลัว เห็นราคาหมูตกแล้วหนีกันหมด ก่อนจะเลี้ยงศึกษาให้ดี เพราะบางครั้งวงการปศุสัตว์การเลี้ยงหมูก็ยังต้องการเกษตรกร ลูกหลานรุ่นใหม่ นำความรู้มาพัฒนาการเลี้ยงหมูให้สู้กับนายทุน และต้นทุนที่สูงให้อยู่รอดต่อไปได้
สำหรับเกษตรกรที่สนใจอยากเลี้ยงหมู หรือโทร. ปรึกษาเคล็ดลับดีๆ จากคุณรัชนีวรรณ  มั่นหมาย ได้

วันอาทิตย์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2562

รัชนีวรรณ ฟาร์ม


เลี้ยงเป็ดแบบบ้านๆ แต่เก็บไข่ได้บาน
(เลิกเซ็งเป็ด 18 คำถาม มีคำตอบ)


คุณรัชนีวรรณ ฟาร์ม กับกิจการเลี้ยงเป็ด 500 ตัว... "อยู่ได้สบายๆ จร้า"



มาวันนี้งานเกษตรของเขากำลังรุดหน้า ทุกครั้งที่เขาได้นำเสนอเรื่องการเลี้ยงเป็ดไข่ผ่านออนไลน์ มีผู้สนใจกดไลท์นับพันคน และสอบถามปัญหาสารพัด จึงเป็นที่มาของการเปิดประเด็นพูดคุยอีกครั้ง ดังนี้


เลี้ยงแบบธรรมชาติอยู่อย่างพอเพียง
1.มีแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงและเดินตามรอยพ่ออย่างไรบ้างครับ?
แนวคิดของผมที่ขอเอาวิชาของพระองค์ท่านมาปรับใช้ในการทำเกษตรพอเพียงคือทำอย่างไรก็ได้ที่สามารถพึ่งพาตนเองให้ได้ครับ อยู่แบบพอมีพอกินไม่เบียดเบียนคนอื่นยึดหลักเศรษฐกิจแบบพอเพียงโดยใช้พื้นที่น้อยๆที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ครับ
2.ปัจจุบันปลูกพืชอะไร เลี้ยงสัตว์อะไร บนพื้นที่กี่ไร่ ตั้งอยู่ที่ไหนครับ?

ปัจจุบันพืชที่ปลูกในไร่มี กล้วยน้ำว้า มะนาวแป้นพิจิตร ตะไคร้ ส่วนสัตว์ก็จะมีเป็ดไข่ ไก่ไข่ วัว หมู ปลานิล บนพื้นที่ 2 ไร่ ตั้งอยู่ที่ บ้านหนองไผ่ล้อม ต.ดอนดึง อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี จร้า
3.เกี่ยวกับการเลี้ยงเป็ดมีแรงบันดาลใจอย่างไร เพราะอะไรจึงไม่เซ็งเป็ดครับ? (หลายคนบอกว่าเป็ดกินเก่ง เลี้ยงไม่คุ้ม)
แรงบัลดาลใจในการเลี้ยงเป็ดผมได้ไปค้นหาข้อมูลเรื่องเป็ดในหลายๆที่ พบว่าน่าจะไปกันได้กับการทำเกษตรแบบพอเพียง แล้วเป็ดสามารถลงเล่นน้ำได้และขี้เป็ดเป็นอาหารที่ดีมากสำหรับปลานิล ซึ่งผมได้เลี้ยงปลานิลไว้ในบ่อ 10,000 ตัว สังเกตได้จากปลานิลได้กินขี้เป็ดและตัวโตเร็วมาก ทำให้เราได้ประโยชน์สองต่อเลยและเป็ดค่อนข้างจะแข็งแรงต่อโรคและดูแลง่าย ส่วนไข่เป็ดก็ขายง่ายครับ
เป็ดกับไก่อยู่ร่วมกันได้
4.เป็ดที่เลี้ยงพันธุ์อะไร ต้องใช้ทุนมากไหม เช่น ค่าพันธุ์เป็ด ค่าทำเล้าเป็ด ฯลฯ ?
เป็ดที่ผมเลี้ยงเป็นพันธุ์กากีแคมเบลสายเลือดชลบุรี โครงสร้างค่อนข้างใหญ่ ทำให้ออกไข่ได้ใบโตเทียบเท่ากับเป็ดพันธุ์ CP ซุปเปอร์เลย ผมจะขอแจกแจงคร่าวๆนะครับ (ที่ฟาร์มผมเป็นระบบการเลี้ยงแบบธรรมชาติท่ามกลางไร่อ้อย) (ขอให้ผู้สนใจคำนวณเอาเอง ตามรายละเอียด ดังนี้)
·         เป็ดที่เลี้ยงเป็นเป็ดสาว นำมาเลี้ยงอีกประมาณ 2-3 สัปดาห์เริ่มออกไข่ ผมซื้อมา 150/ตัว(500×150)
·         เล้าเป็ดทำเองครับ 3,000 บาท
·         อาหารเป็ดกระสอบละ 450 บาท (450×20) (ระยะแรกที่เลี้ยงใช้อาหารกระสอบ
5.เล้าเป็ดที่ว่าขนาดพื้นที่เท่าไร ทำขึ้นลักษณะเช่นไร เช่น ตาข่ายล้อมเป็นคอก มีโรงเรือน มีที่ให้อาหาร ต้องประกอบไปด้วยพื้นที่ใช้สอยอย่างไรบ้างครับ?
เนื้อที่เลี้ยงเป็ดประมาณ 60 ตารางเมตรครับ (ไม่รวมบ่อน้ำ) ลักษณะทำเป็นโรงเรือนโดยใช้ไม้และมุงหลังคาด้วยหญ้าคา ส่วนบริเวณเล้าล้อมด้วยตาข่ายสูงประมาณ 1 เมตร แบ่งเป็นพื้นที่ให้อาหารเป็นสัดส่วนกันครับ
6.ต้องให้เป็ดอยู่ในคอกเวลาใด และต้องปล่อยให้ไปว่ายน้ำเวลาใดครับ?
เป็ดจะเข้าคอกเองเวลา 16.00 น. โดยอัตโนมัติ ส่วนปล่อยออกมาเล่นน้ำเวลา 10.00-11.00 น. หลังจากเวลานี้ก็ปล่อยให้อยู่แบบธรรมชาติ โดยจะมีคอกล้อมรอบไว้ครับ
อาหารที่ทำขึ้นเอง (หัวใจสำคัญที่ทำให้ลดต้นทุนได้)
7.การจัดการเรื่องอาหารการกิน เป็นอาหารประเภทไหนบ้าง เช่นอาหารสำเร็จ อาหารเสริม หรืออาหารที่ทำขึ้นเอง วันละกี่มื้อ มื้อหนึ่งๆ กินเยอะไหมครับ?
อาหารเป็ดสำหรับผมจะทำการลดต้นทุนเอาครับ โดยการใช้ 1.รำข้าว  2. ข้าวเปลือก 3.ข้าวโพดเม็ดที่ปลูกเอง 4.ข้าวโพดปั่นทั้งต้น (อายุข้าวโพด 75 วันจะปั่นทั้งต้นทั้งใบและฝักมาหมักกับกากน้ำตาล) 5.สุดท้ายอาหารเป็ดครับ
ส่วนการให้อาหารจะให้ 2 เวลาคือเช้า-เย็น เป็ดค่อนข้างจะกินเยอะ ถ้าไม่ลดต้นทุนคงจะขาดทุน หากเลี้ยงอาหารเป็ดเพียงอย่างเดียวนะครับ
8.กรณีที่ลดต้นทุนด้วยการทำอาหารขึ้นเอง ช่วยบอกคร่าวๆว่าสูตรอาหารเป็นอย่างไรบ้างครับ?
สูตรอาหาร 1 มื้อ จะมีส่วนผสมดังนี้ครับ รำข้าว 20 กก. + ข้าวโพดเม็ด 5 กก. + ข้าวโพดปั่นต้น 5 กก. + อาหารเป็ด 10 กก. (1 กระสอบได้ 3 มื้อ เช้า-เย็น และเช้าของอีกวัน) +น้ำ 1 ถังสี คลุกเคล้าให้เข้ากัน หลังจากนั้นก็ให้ข้าวเปลือกทีหลังครับ (สำหรับผู้ที่ต้องการทำตามสูตรนี้สัดส่วนสามารถลดหรือตัดบางอย่างออกได้ตามความเหมาะสมครับ)
9.ตอนที่ซื้อมาใหม่ๆ เป็ดต้องใช้เวลาปรับตัวนานไหม มีอะไรต้องกังวลบ้าง แล้วเปลี่ยนเป็นอาหารผสมเองช่วงไหนครับ?
เป็ดใช้เวลาปรับตัวกับเล้าและพื้นที่ใหม่ประมาณ 2 สัปดาห์ครับ สิ่งที่กังวลคือกลัวเขาตกใจเพราะที่ไร่มีหมาน้อยหลายตัว แต่สุดท้ายเขาก็อยู่ด้วยกันได้
ช่วงเอามาแรกๆ ก็เป็นช่วงเจริญของรังไข่ของเป็ด ช่วงนี้อัดอาหารเม็ดและข้าวเปลือก พอ 2 สัปดาห์ผ่านไปเริ่มออกไข่แล้ว จึงเริ่มผสมอาหารเอง และช่วง 2-3 วันแรกเขาค่อนข้างจะงงๆ กับอาหารใหม่แต่ในที่สุดก็กินหมดเกลี้ยงครับ
ภารกิจเก็บไก่เป็ด (มีหมาน้อยคอยเป็นเพื่อนครับ)
10.เป็ดที่เลี้ยงทั้งหมด ออกไข่ประมาณกี่เปอร์เซ็นต์ หรือได้ไข่วันละกี่ฟอง แต่ละวันเท่าๆกันไหมครับ?
เป็ดออกไข่ไม่เท่ากันทุกวันครับสำหรับที่นี่เป็ด 500ตัว ออกไข่ประมาณ 300-400 ฟอง/วันครับ
11.พฤติกรรมการออกไข่ของเป็ดเป็นอย่างไร ชอบไข่เวลาไหน คิดว่าตัวที่ไข่ดีๆ จะให้ไข่บ่อยไหม?
เป็ดจะออกเริ่มออกไข่ช่วง 4-5 ทุ่ม ตัวที่ไข่ดีๆจะไข่บ่อย เคยลองเอาตัวที่ไข่ประจำๆไปลองเลี้ยงไว้ต่างหากดูก็ยังออกไข่ตามปกติที่เคยไข่ครับ แต่เป็ดจะมีช่วงไม่ไข่เลยนะ เป็นระยะเวลาประมาณ 1 เดือนหรือที่เรียกว่าช่วงเป็ดผลัดขนครับ
12.คิดว่าหัวใจสำคัญของการเลี้ยงเป็ดไข่ เพื่อให้ออกไข่สม่ำเสมอน่าจะอยู่ที่ปัจจัยใดครับ?
ปัจจัยที่มีผลต่อการออกไข่คือเรื่องอาหารการกิน และปัจจัยที่มีผลอีกอย่างหนึ่งคือการตกใจของเป็ดทำให้การออกไข่ลดลงและฝนตกบ่อยๆ ก็มีผลในการออกไข่ลดลงอย่างมากเช่นกัน ต้องจัดการให้ดีๆครับ
13.ที่เห็นมีไก่ มีหมา มาป้วนเปี้ยนอยู่ด้วย มีผลอะไรต่อความเป็นอยู่ของเป็ดไหมครับ?
หมาที่ฟาร์มมี 10 ตัว เขาถูกเลี้ยงและสอนให้อยู่ร่วมกันได้จึงไม่มีผลในการออกไข่มากนัก และการเลี้ยงหมาที่ฟาร์มนั้นจะเป็นการเลี้ยงหมาเพื่อป้องกันหมาที่มาจากทางอื่นเข้ามากัดเป็ดกัดไก่ในไร่ครับ แต่ที่ไร่ยังมีศัตรูอีกอย่างคืองูเหลือมชอบเข้ามากินเป็ดไก่มาก ต้องระวังส่วนนี้ด้วยครับ
14.ปัญหาอุปสรรคเกี่ยวกับการเลี้ยงเป็ดไข่ คิดว่ามีอะไรบ้างครับ?
ปัญหาสำหรับการเลี้ยงเป็ดคือ 1.ต้นทุนด้านอาหารเป็ดค่อนข้างจะกินเยอะมาก ต้องมีวิธีการลดครับ 2.ปัญหาสภาพแวดล้อมต่างๆ (เป็ดตกใจ) 3.ส่วนโรคที่เกิดกับเป็ดจะมีโรคขาอ่อน โรคทางเดินอาหารครับ
15.ไข่เป็ดที่ได้นำไปขายที่ไหน ราคาดีไหม พอเพียงความต้องการไหมครับ?
เป็ดไข่ตลาดค่อนข้างจะต้องการสูงครับ สำหรับที่ทำอยู่ไม่เยอะมากอาศัยขายในหมู่บ้านก็ไม่พอขาย ผมขายในราคา 120 บาท/แผงครับ (30 ฟอง)
16.คิดว่าต้นทุนค่าอาหารเป็ดและค่าจัดการต่างๆ กับค่าขายไข่เป็ดคุ้มกันไหมครับ?
สำหรับผมลดต้นทุนด้านอาหารเป็ดผมว่ามันคุ้มครับ ต้นทุนค่าอาหารเฉลี่ยวันละ 300 บาท ขายไข่ได้เหลือเงินเก็บวันละ 1,000 บาท เพราะวัตถุดิบด้านอาหารอาศัยปลูกเองครับ
มีคุณแม่เป็นผู้ช่วยสำคัญ (ผู้จัดการครับ)
17.ใช้คนเลี้ยงหลักทั้งหมดกี่คน เห็นมีคุณแม่อยู่ด้วยตลอด และบริหารจัดการเรื่องเวลาอย่างไรครับ(ทำหลายอย่าง)
การเลี้ยงเป็ดเป็นอะไรที่ไม่ยากนักทำแค่ 1 คนพอแล้วครับ ส่วนจัดการเวลา ด้วยที่ทางไร่จะทำหลายอย่างจัดสรรเวลากัน ช่วงเช้าเก็บไข่เสร็จ ให้อาหาร ปล่อยเล่นน้ำ (จบช่วงเช้า) กลับมาอีกทีช่วงเย็น 17.00 น. อาหารเย็นเป็นอันเสร็จ ส่วนเวลาช่วงอื่นเอาไปทำงานด้านอื่นๆครับ
18.ข้อคิดอื่นๆ ที่อยากแบ่งปันเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมและผู้สนใจที่อยากเลี้ยงครับ?
สำหรับท่านที่ต้องการทำเป็นอาชีพเสริมการเลี้ยงเป็ดไข่ก็เป็นอีก 1 อาชีพที่คิดว่ามันโอเคแต่ต้องตระหนักเรื่องลดต้นทุนด้านอาหารครับ ก่อนจะเริ่มเลี้ยงควรศึกษาวิธีต่างๆให้เข้าใจก่อนการลงมือทำ ทุกอย่างไม่มีอะไรยากหรือง่ายจนเกินไป คิดว่าเพื่อนๆทุกท่านสามารถทำได้และขอเป็นกำลังใจให้ครับ

หมายเหตุท้ายเรื่อง : เรื่อง เลี้ยงเป็ดแบบบ้านๆ แต่เก็บไข่ได้บาน”  มีการนำมาเสนอแล้วครั้งหนึ่งเมื่อต้นเดือน ธ.ค.62 ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากผู้อ่านเพียงสัปดาห์เดียวมียอดคนอ่าน 2 แสนกว่าคน แต่หลังจากนั้นเว็บไซต์มีปัญหาบางประการไม่สามารถกู้ข้อมูลกลับคืนมาได้ จึงขอนำมาเสนอใหม่ ดังกล่าวแล้ว


วันพฤหัสบดีที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2556

การเลี้ยงโคนมในฤดูร้อน

โดย  คาวบอย  บ้านหมี่
           วันนี้ อากาศร้อน อบอ้าว ยิ่งตอนกลางวัน หลังจากรีดนมเสร็จ ก็ปล่อยโคนมลงแปลงหญ้าธรรมชาติ เราก็เดินดูบ้างลัดเลาะดูหญ้า เปลวแดดเปรี้ยง ๆ ยังดีน๊ะที่เรามีคลองธรรมชาติพอมีน้ำซับไหลซิบ ๆ เอาไว้ให้โคนมของเราได้อาศัยกลิ่นไอ เพื่อระบายความร้อนได้ มานึกถึงฟาร์มอื่น ๆ ที่ไม่มีธรรมชาติมาช่วยอย่างเรา ต้องอาศัยมนุษย์ช่วยทั้งดุ้น ไม่ว่าจะเป็นสปริงเก้อทั้งบนหลังคาฟาร์ม ทั้งพื้นโรงเรือน การฉีดน้ำช่วยก็คงคิดว่าช่วยได้บางส่วนเท่านั้น แต่ความร้อนลึก ๆ ในตัววัวนั้นจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร คาวบอย บ้านหมี่ ก็พอมีความรู้ด้านการเลี้ยงโคนมเชิงวิชาการ พร้อมทั้งอาศัยประสบการณ์ชีวิตที่เกิดมาพร้อมโคนมตัวแรกรุ่นแรกของฟาร์ม จึงอยากจะมาเล่าให้ฟังว่า

     
การเลี้ยงโคนมในช่วงฤดูร้อนนั้น มีเคล็ดลับอย่างไรที่จะทำให้แม่โคนมโดยเฉพาะอย่างยิ่ง แม่โคนมที่ให้น้ำนมมากๆ ยังคงให้น้ำนมในปริมาณเท่าเดิมและจะต้องเป็นสัดผสมติดตามปกติ เหมือนในช่วงฤดูอื่นๆไม่ใช่เรื่องยากอุณหภูมิอากาศรอบๆตัวที่แม่โคจะอยู่ได้อย่างสบายคือ 20-25 องศาเซลเซียล ในอุณหภูมิช่วงจะทำให้ขบวนการเผาผลาญอาหารและใช้พลังงานในร่างการดำเนินไปตามปกติ แม้จะมีความร้อนที่เกิดจากการเผาผลาญและการใช้พลังงานขึ้น เมื่ออุณหภูมิของร่างการแตกต่างกับอุณหภูมิภายนอก ร่างกายจึงไม่มีความเครียด เพราะระบายความร้อนได้.แม่โคที่เกิดและเติบโตในเขตอบอุ่น มีความเคยชินกับอุณหภูมิในช่วงร่างกายระบายความร้อนได้ เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นในฤดูร้อนหรือแม่โคถูกย้ายมาเลี้ยงในเขตร้อน ซึ่งมีอุณหภูมิสูงกว่า 20-25 องศาเซลเซียส แต่ในเขตร้อนเมื่อถึงฤดูร้อนทุกๆ อุณหภูมิที่เพิ่มตั้งแต่ 1 องศาขึ้นไป ร่างกายจะเกิดความเครียด และทำให้การให้น้ำนมลดลง .สาเหตุที่ทำให้แม่โคเกิดความเครียดเมื่ออากาศร้อน คือ เมื่อแม่โคกินพืชอาหารสัตว์ ซึ่งมีเยื่อใยสูง ต้องผ่านการหมักและการย่อยที่กระเพาะรูเมน ขณะนี้จะเกิดความร้อนขึ้น โดยเฉพาะแม่โคที่ให้น้ำนมสูง จะกินอาหารเป็นจำนวนมากๆ เพื่อให้เกิดพลังงานเพียงพอจนนำไปใช้สร้างน้ำนม จะเกิดความร้อนในขณะหมักและย่อยมากขึ้นกว่าสภาพของแม่โคที่ให้น้ำนมน้อยหรือปานกลาง ซึ่งมีความต้องการอาหารน้อยกว่าในขณะที่ร่างกายมีความร้อนที่เกิดจากการเผาผลาญ และใช้พลังงาน ถ้าอากาศภายนอกมีอุณหภูมิไม่สูงมาก ร่างกายจะระบายความร้อนทางลมหายใจและเหงื่อ ซึ่งในการระบายความร้อนนี้ก็ต้องใช้พลังงานอีกจำนวนหนึ่ง จึงเกิดความร้อนขึ้นอีก ถ้าร่างกายระบายความร้อนที่เกิดขึ้นทั้งหมดได้จะไม่เกิดความเครียด.....แต่ถ้าอากาศภายนอกสูงเกินกว่าร่างกายจะปรับตัว โดยเริ่มจากสมองก่อน เพราะในสมองมีศูนย์ควบคุมอุณหภูมิของร่างกายให้อยู่ที่ 38 องศา เมื่ออากาศร้อนหรืออุณหภูมินอกร่างกายสูงเกินกว่า 20-25 องศาเซลเซียส ร่างกายจะได้รับความร้อนจากแสงแดดไม่ว่าโดยตรง หรือทางอ้อมจากการนำ การพาและการแผ่รังสี ซึ่งทำให้อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นและความเครียดมากกว่า.ส่วนวิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนั้น มีทั้งการแก้ไขปัญหาระยะยาว, การแก้ไขปัญหาระยะสั้น และการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอย่างรีบเร่ง

.......* * การแก้ไขปัญหาระยะสั้น คือ จัดหาเครื่องทำความเย็น หรือทำให้อากาศรอบๆ ตัว แม่โคเย็นลง ซึ่งก็มีอยู่หลายวิธี เช่น จัดร่มเงา ใช้พัดลม พร้อมด้วยเครื่องพ่นน้ำหรือจัดหาน้ำเย็นให้ดื่ม เป็นต้น
.......* * การแก้ไขปัญหาระยะยาว คือ คัดเลือกแม่โคให้น้ำนมในฤดูอื่นๆไม่แตกต่างกัน มีความสมบูรณ์ พันธุ์ดี ไว้เป็นแม่พันธุ์ จะได้สายพันธุ์ใหม่ที่มีความเหมาะสมต่อสภาพอากาศในเขตร้อน เป็นการแก้ไขที่ใช้เวลา แต่ถาวรและเสียค่าใช้จ่ายน้อย
...... * * การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอย่างรีบเร่ง เป็นการแก้ไขปัญหาที่เห็นผลเร็ว แต่เสียเงินมากพอสมควร ผลตอบแทนคุ้มค่า คือ การจัดการ การดูแล และการให้อาหาร


วันอาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

เติมเต็มให้แปลงหญ้าธรรมชาติ

                                                                                                                                               โดย คาวบอย  บ้านหมี่

วันนี้ เป็นว่าง คาวบอย บ้านหมี่ เลยมีเวลาว่างหลังจากเดินดูฟาร์มเสร็จก็มานั่งเหม่อมองท้องฟ้า ยามเช้าอันสดใสของตำบลดอนดึง อำเภอบ้านหมี่ มองไปยังทุ่งหญ้า ซึ่งเป็นแปลงหญ้าธรรมชาติ ในใจคิดว่าเรายังโชคดีหนอที่ยังมีแปลงหญ้าไว้รองรับ หากฟาร์มของเราขนาดขนาดฟาร์มเป็นฟาร์มขนาดใหญ่ เรายังมั่นใจว่าเรายังสามารถใช้แปลงหญ้านี้เป็นจุดแข็งในการขยายฟาร์มเราได้ คิดต่อไปอีกว่าเราจะปล่อยให้หญ้าซึ่งเป็นแหล่งอาหารอันสำคัญของการเลี้ยงโคนมเป็นไปตามยะถากรรมเชียวหรือ เราจะไม่เพิ่มเติมอะไรลงไปในคำว่าธรรมชาติเชียวหรือ วันก่อนได้เข้าไปนั่งคุยกับปศุสัตว์ประจำสหกรณ์ท่านได้ให้แง่คิดดี ๆ มาว่า เราควรที่จะเติมปลูกหญ้าเข้าไปเพิ่มให้กับธรรมชาติ หญ้าอะไรหล๊ะ พันธุ์อะไรหล๊ะ ก็เลยได้คำตอบมาว่า

การจะเลือกใช้หญ้าพันธุ์ใดนั้น ต้องคำนึงถึงลักษณะพื้นที่ที่จะปลูกเป็นสำคัญ
          1. พื้นที่ดอน พันธุ์ที่แนะนำคือ:
                       หญ้ารูซี่ เป็นหญ้าที่มีอายุหลายปี ต้นกึ่งเลื้อยกึ่งตั้ง ชอบดินที่มีการระบายน้ำดี เจริญเติบโตได้ในดินแทบทุกชนิด ปลูกได้ทั้งเมล็ดและท่อนพันธุ์ โตเร็ว เหมาะสำหรับปล่อยสัตว์แทะเล็ม หรือจะเกี่ยวให้สัตว์กินก็ได้ ให้ผลผลิตน้ำหนักแห้ง 2-2.5 ตันต่อไร่ต่อปี
                        หญ้ากินนีสีม่วง เป็นหญ้าที่มีอายุหลายปี ต้นตั้งเป็นกอ แตกกอได้ดี ใบใหญ่ ใบดกอ่อนนุ่ม เหมาะแก่การตัดสดให้สัตว์กิน ทนร่มเงาได้ดี ใช้หน่อพันธุ์หรือเมล็ดปลูกก็ได้ แต่ไม่ทนน้ำท่วมขัง ให้ผลผลิตน้ำหนักแห้ง 2.5-3.5 ตันต่อไร่ต่อปี
                       หญ้าเนเปียร์ เป็นหญ้าที่มีอายุหลายปี ลำต้นเป็นกอ ลักษณะลำต้นคล้ายอ้อย มีใบมาก ชอบดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง ปลูกโดยใช้ท่อนพันธุ์ ให้ผลผลิตน้ำหนักแห้ง 3-4 ตันต่อไร่ต่อปี
          2. พื้นที่ลุ่ม
                   หญ้าแพงโกล่า เป็นหญ้าที่มีอายุหลายปี มีลำต้นทอดนอนไปตามพื้นผิวดิน ต้นอ่อนจะตั้งตรง เจริญเติบโตได้ในดินทรายจนถึงดินเหนียวทนแล้งและทนน้ำท่วมขัง ปลูกโดยใช้ท่อนพันธุ์ ผลผลิตน้ำหนักแห้ง 5-7 ตันต่อไร่ต่อปี
                   หญ้าอะตราตัม สามารถขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดหรือหน่อพันธุ์ก็ได้ ลักษณะต้นเป็นหญ้ากอใหญ่ ใบกว้าง เจริญเติบโตได้ดีในสภาพดินที่มีความสมบูรณ์ต่ำ ดินเป็นกรด และมีน้ำขังบ้าง เหมาะสำหรับตัดให้สัตว์กิน ให้ผลผลิตน้ำหนักแห้ง 2.5-3.5 ตันต่อไร่ต่อปี
                   หญ้าพลิเคทูลั่ม เป็นหญ้าที่มีอายุหลายปี ต้นตั้งเป็นกอ เจริญเติบโตได้ในดินทรายที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ทนต่อสภาพแห้งแล้ง และน้ำท่วมขัง ปลูกโดยใช้เมล็ดหรือหน่อพันธุ์ ผลผลิตน้ำหนักแห้ง 1.5-2.5 ตันต่อไร่ต่อปี

ก้าวย่างสู่ AEC กับปัญหาการเลี้ยงโคนมของไทยแลนด์

                                                                                                                            โดย คาวบอย บ้านหมี่
                      การพัฒนาอุตสาหกรรมโคนมไทยในปัจจุบัน จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ทุกประเทศมีการพัฒนาอย่างเป็นระบบมองกลุ่มผู้ผลิต มองกลุ่มผู้แปรรูป มองกลุ่มผู้บริโภค สุดท้ายมองระบบโรจิสติก  แต่บทความนี้คาวบอย บ้านหมี่ ได้ศึกษาจากเอกสารต่าง ๆ นำมาประกอบกัน พอสรุปให้ท่านได้อ่านรู้ว่าแนวคิดของคนเลี้ยงโคนมที่เป็นห่วงโซ่แรกของอุตสาหกรรมโคนมว่าเขาคิดกันอย่างไร เพราะอีกไม่กี่เราก็จะเข้าเป็นประชาคมอาเซียน เมื่อเข้าสู่ AEC ก็จะกลายเป็นใครเข้มแข็งกว่าก็จะได้เปรียบ ใครอ่อนแอ กว่าก็จะเสียเปรียบ พอที่จะนำบทความทางวิชาการที่มีนักวิชาการหลาย ๆ คนเขียนไว้ โดยจะชี้ให้เห็นเกี่ยวกับปัญหาการผลิตของอุตสาหกรรมโคนมว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาก่อ่นที่จะเข้าสู่ AEC ก็คือ
            1. รัฐบาลต้องให้ความสำคัญในเรื่องการส่งเสริมการผลิตน้ำนม     ให้ได้คุณภาพ คือ เร่งส่งเสริมการให้ความรู้เกษตรกรเกี่ยวกับการเลี้ยงโคนม ส่งเสริมการวิจัยและเชื่อมโยงงานวิจัยจากนักวิชาการไปสู่เกษตรกรอย่างเป็นรูปธรรม และส่งเสริมในการบริหารจัดการฟาร์มอย่างเป็นระบบ การจัดทำบัญชีฟาร์ม จัดทำสารสนเทศโคนม
            2. เน้นการลดต้นทุนการผลิต การเลี้ยงโคนมที่ประสบปัญหาในปัจจุบันเนื่องมาจาก เรามีต้นทุนในการผลิตเพิ่มมากขึ้น ส่วนใหญ่ต้นทุนมาจากอาหารโคนม คาวบอย บ้านหมี่ มองว่าเราสามารถลดต้นทุนในเรื่องอาหารของโคนมได้ โดยการรวมกลุ่มเกษตรกร ( Cluster ) กลุ่มในที่นี้คือ กลุ่มผู้ผลิต เช่น (กลุ่มเกษตรผู้เลี้ยงโคนม กลุ่มเกษตรผู้ปลูกมันสำปะหลัง กลุ่มเกษตรผู้ปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ กลุ่มเกษตรผู้อัดฟางก้อน กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด ) หากเราสามารถรวมกลุ่มได้แล้วก็สามารถผลิตอาหารสัตว์ได้ในราคาถูก โดย     อาจจะเชิญนักวิชาการด้านการผลิตอาหารสัตว์มาเป็นวิทยากร ให้ความรู้ในการผลิตอาหารสัตว์ ในที่สุดเกษตรกรก็สามารถลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิตได้

วันพฤหัสบดีที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ประชาคมอาเซียนกับอาชีพการเลี้ยงโคนม

เกษตรกรโคนม ถือเป็นหนึ่งในอาชีพที่มีความสำคัญต่อคนไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากอาชีพเกษตรกรโคนมนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์นักคิดนักพัฒนา ทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการเลี้ยงโคนม และการพัฒนาผลิตภัณฑ์นม เมื่อกว่า 50 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่านมนั้นเป็นเครื่องดื่มบำรุงสุขภาพที่เหมาะกับทุกเพศทุกวัยโดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชนที่ร่างกายกำลังเจริญเติบโต วันนี้ รัชนีวรรณฟาร์ม จะพาไปดูสถานการณ์ของเกษตรกรโคนมว่าเป็นอย่างไร และจะรับมืออย่างไรเมื่อประเทศไทยจะต้องเปิดเสรีทางเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้

อาชีพเกษตรกรโคนม เริ่มต้นเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จประพาสยุโรปเมื่อปี พ.ศ.2503 ในระหว่างที่ทั้งสองพระองค์ประทับอยู่ ณ ประเทศเดนมาร์ก ทรงให้ความสนพระราชหฤทัยในกิจการเลี้ยงโคนมเป็นอย่างมาก ต่อมารัฐบาลเดนมาร์กและสมาคมเกษตรเดนมาร์ก ได้ร่วมกันน้อมเกล้าฯ ถวายโครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคนมแด่ทั้งสองพระองค์ โดยริเริ่มจัดตั้งฟาร์มโคนม และศูนย์ฝึกอบรมการเลี้ยงโคนมไทยเดนมาร์กขึ้นที่อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าเฟรเดอริกที่ 9 แห่งเดนมาร์ก ได้ทรงร่วมกันประกอบพิธีเปิดฟาร์มโคนมและศูนย์ฝึกอบรมการเลี้ยงโคนมไทย-เดนมาร์ก อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2505 จนกระทั่งในปี พ.ศ.2514 รัฐบาลไทยได้รับโอนกิจการดังกล่าวมา และจัดตั้งเป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชื่อว่า องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย

ในปี พ.ศ.2558 หรืออีก 3 ปีข้างหน้า ประชาคมอาเซียน (Asean) ซึ่งมี 10 ชาติสมาชิก ประกอบด้วย เวียดนาม มาเลเซีย พม่า ลาว ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย บรูไน กัมพูชา และไทย จะรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน( Asean Economics Community : AEC) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน มีอำนาจต่อรองในเวทีโลกมากขึ้น ซึ่งจะมีการนำเข้า ส่งออกของชาติในอาเซียนอย่างเสรี (ยกเว้นสินค้าบางชนิด) ส่งผลให้การแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจของแต่ละประเทศจะต้องมีการปรับตัว และพัฒนาเพื่อความอยู่รอด ซึ่งประเทศไทยในทุกภาคส่วนต่างตื่นตัวรับ AEC เช่นกัน โดยเฉพาะภาคการเกษตรที่ถือกันว่าเป็นอาชีพหลักของคนไทย ได้พยายามปรับตัว เพื่อรับการแข่งขันที่นับวันจะยิ่งเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ

“พันธุ์โคนมไทยในทศวรรษหน้า”

      ด้วยสภาวะการแข่งขันทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีมากในปัจจุบันและนับวันมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้นดังนั้นหากกล่าวถึงความคาดหวังเกี่ยวกับพันธุ์โคนมไทยในทศวรรษหน้าแล้วทุกท่านคงปฏิเสธได้ยากถึงการได้มาซึ่งโคนมที่มีคุณลักษณะ เป็นโคที่สามารถให้ผลผลิตและแสดงลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ (Production efficiency) ดังต่อไปนี้
·         เป็นโคที่สามารถให้ผลผลิตและแสดงลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่องและยาวนาน (Life Time Production)
·         เป็นโคที่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมและเลี้ยงดูได้ง่าย (Adaptability)
·        เป็นโคที่มีความสามารถทางพันธุกรรมเกี่ยวกับการให้ผลผลิตและแสดงลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจสูง (Genetic ability)
   เหตุผลที่เป็นเช่นนั้นเพราะการเป็นโคที่สามารถให้ผลผลิตและแสดงลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นช่วยให้การลงทุนต่อหนึ่งหน่วยการผลิตได้ผลตอบแทนอย่างคุ้มค่าการเป็นโคที่สามารถให้ผลผลิตและแสดงลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่องและยาวนานนั้นจะช่วยลดความเสียงและเพิ่มความมั่นใจในการวางแผนการผลิตสำหรับอนาคตการเป็นโคที่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมและเลี้ยงดูได้ง่ายนั้นจะช่วยให้การจัดการการผลิตสามารถทำได้ง่ายและคล่องตัวมากยิ่งขึ้นและการเป็นโคที่มีความสามารถทางพันธุกรรมเกี่ยวกับการให้ผลผลิตและแสดงลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจสูงนั้นจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้ผู้ผลิตมั่นใจได้ว่าโคนมรุ่นต่อไปในระบบการผลิตของตนจะยังคงมีความสามารถในการให้ผลผลิตดีหรือดีกว่าโคนมในรุ่นปัจจุบัน