วันพฤหัสบดีที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ประชาคมอาเซียนกับอาชีพการเลี้ยงโคนม

เกษตรกรโคนม ถือเป็นหนึ่งในอาชีพที่มีความสำคัญต่อคนไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากอาชีพเกษตรกรโคนมนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์นักคิดนักพัฒนา ทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการเลี้ยงโคนม และการพัฒนาผลิตภัณฑ์นม เมื่อกว่า 50 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่านมนั้นเป็นเครื่องดื่มบำรุงสุขภาพที่เหมาะกับทุกเพศทุกวัยโดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชนที่ร่างกายกำลังเจริญเติบโต วันนี้ รัชนีวรรณฟาร์ม จะพาไปดูสถานการณ์ของเกษตรกรโคนมว่าเป็นอย่างไร และจะรับมืออย่างไรเมื่อประเทศไทยจะต้องเปิดเสรีทางเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้

อาชีพเกษตรกรโคนม เริ่มต้นเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จประพาสยุโรปเมื่อปี พ.ศ.2503 ในระหว่างที่ทั้งสองพระองค์ประทับอยู่ ณ ประเทศเดนมาร์ก ทรงให้ความสนพระราชหฤทัยในกิจการเลี้ยงโคนมเป็นอย่างมาก ต่อมารัฐบาลเดนมาร์กและสมาคมเกษตรเดนมาร์ก ได้ร่วมกันน้อมเกล้าฯ ถวายโครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคนมแด่ทั้งสองพระองค์ โดยริเริ่มจัดตั้งฟาร์มโคนม และศูนย์ฝึกอบรมการเลี้ยงโคนมไทยเดนมาร์กขึ้นที่อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าเฟรเดอริกที่ 9 แห่งเดนมาร์ก ได้ทรงร่วมกันประกอบพิธีเปิดฟาร์มโคนมและศูนย์ฝึกอบรมการเลี้ยงโคนมไทย-เดนมาร์ก อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2505 จนกระทั่งในปี พ.ศ.2514 รัฐบาลไทยได้รับโอนกิจการดังกล่าวมา และจัดตั้งเป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชื่อว่า องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย

ในปี พ.ศ.2558 หรืออีก 3 ปีข้างหน้า ประชาคมอาเซียน (Asean) ซึ่งมี 10 ชาติสมาชิก ประกอบด้วย เวียดนาม มาเลเซีย พม่า ลาว ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย บรูไน กัมพูชา และไทย จะรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน( Asean Economics Community : AEC) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน มีอำนาจต่อรองในเวทีโลกมากขึ้น ซึ่งจะมีการนำเข้า ส่งออกของชาติในอาเซียนอย่างเสรี (ยกเว้นสินค้าบางชนิด) ส่งผลให้การแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจของแต่ละประเทศจะต้องมีการปรับตัว และพัฒนาเพื่อความอยู่รอด ซึ่งประเทศไทยในทุกภาคส่วนต่างตื่นตัวรับ AEC เช่นกัน โดยเฉพาะภาคการเกษตรที่ถือกันว่าเป็นอาชีพหลักของคนไทย ได้พยายามปรับตัว เพื่อรับการแข่งขันที่นับวันจะยิ่งเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ

“พันธุ์โคนมไทยในทศวรรษหน้า”

      ด้วยสภาวะการแข่งขันทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีมากในปัจจุบันและนับวันมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้นดังนั้นหากกล่าวถึงความคาดหวังเกี่ยวกับพันธุ์โคนมไทยในทศวรรษหน้าแล้วทุกท่านคงปฏิเสธได้ยากถึงการได้มาซึ่งโคนมที่มีคุณลักษณะ เป็นโคที่สามารถให้ผลผลิตและแสดงลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ (Production efficiency) ดังต่อไปนี้
·         เป็นโคที่สามารถให้ผลผลิตและแสดงลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่องและยาวนาน (Life Time Production)
·         เป็นโคที่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมและเลี้ยงดูได้ง่าย (Adaptability)
·        เป็นโคที่มีความสามารถทางพันธุกรรมเกี่ยวกับการให้ผลผลิตและแสดงลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจสูง (Genetic ability)
   เหตุผลที่เป็นเช่นนั้นเพราะการเป็นโคที่สามารถให้ผลผลิตและแสดงลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นช่วยให้การลงทุนต่อหนึ่งหน่วยการผลิตได้ผลตอบแทนอย่างคุ้มค่าการเป็นโคที่สามารถให้ผลผลิตและแสดงลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่องและยาวนานนั้นจะช่วยลดความเสียงและเพิ่มความมั่นใจในการวางแผนการผลิตสำหรับอนาคตการเป็นโคที่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมและเลี้ยงดูได้ง่ายนั้นจะช่วยให้การจัดการการผลิตสามารถทำได้ง่ายและคล่องตัวมากยิ่งขึ้นและการเป็นโคที่มีความสามารถทางพันธุกรรมเกี่ยวกับการให้ผลผลิตและแสดงลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจสูงนั้นจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้ผู้ผลิตมั่นใจได้ว่าโคนมรุ่นต่อไปในระบบการผลิตของตนจะยังคงมีความสามารถในการให้ผลผลิตดีหรือดีกว่าโคนมในรุ่นปัจจุบัน